วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

อริยมรรคแปด


อริยมรรค ซึ่งแปลว่า มรรค หรือ หนทางอันประเสริฐ มีองค์ประกอบอยู่ ๘ ประการ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ หมายถึง ความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดี ได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บิดามารดามีพระคุณ เห็นว่า บุญมี บาปมี เห็นหรือเข้าใจสภาพความเป็นจริงของชีวิต
๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ หมายถึง ความคิดชอบ ความคิดถูกต้อง หรือความตรึกตรองไปในทางที่ดี
๓. สัมมาวาจา การเจรจาหรือวาจาชอบ เป็นทางปฏิบัติที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง อันหมายถึง การสำรวมระวังในการพูดไม่ให้ผิด ให้พูดแต่วจีสุจริต
๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบหรือการกระทำที่ชอบ หมายถึง การประพฤติชอบทางกายที่เรียกว่า กายสุจริต
๕. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ หมายถึงการเลี้ยงชีพโดยสุจริต เป็นอาชีพที่สุจริตไม่เป็นอาชีพที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรืออาชีพที่ผิดกฎหมายบ้านเมืองและศีลธรรมอันดีงาม หรือมีอาชีพที่ถูกต้องเป็นสัมมาชีพ
๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ ความเพียรนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานทุกอย่าง ยิ่งเป็นการบำเพ็ญเพียรทางจิตแล้ว
ก็ยิ่งจำเป็นมาก บุคคลจะล่วงทุกได้ก็เพราะความเพียร
๗. สัมมาสติ ความระลึกชอบ หมายถึง การสำรวมใจ หรือทำใจให้สงบตามแนวสติปัฏฐาน (ที่ตั้งแห่งจิต) ทั้ง ๔ เป็นการพิจารณาให้รู้เห็นเนื่องๆ เพื่อมิให้เกิดความยึดมั่นถือมันในร่างกาย ความรู้สึก จิตใจและธรรม ทั้งที่เป็นฝ่ายกุศลหรืออกุศล
๘.สัมมาสมาธิ ความตั้งใจชอบ ความตั้งใจชอบเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ ด่านสุดท้ายที่จะเผด็จศึกกับกิเลส สัมมาสมาธในที่นี้ ก็หมายเอาความตั้งใจชอบโดยการเข้าสมาธิชนิดที่เป็นอัปปนาสมาธิ คือ สมาธิแน่วแน่สมบูรณ์เต็มที่ (ไม่ใช่สมาธิชั่วขณะ หรือสมาธิเฉียดๆ) เป็นสมาธิที่ปราศจากนิวรณ์โดยสิ้นเชิง เป็นสมาธิระดับฌาน (ความเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น