วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นิทานเซ็นเรื่อง จิตที่เคลื่อนไหว


ชายสองคนกำลังยืนถกเถียงกันในเรื่องการสะบัดไหวของผืนธงท่ามกลางกระแสลม
“เป็นลมต่างหาก ที่เคลื่อนไหว” ชายคนหนึ่งกล่าว
“ไม่ใช่หรอก เป็นผืนธงต่างหาก ที่เคลื่อนไหว”
อาจารย์เซ็นท่านหนึ่ง ซึ่งบังเอิญเดินผ่านชายที่กำลังถกเถียงกันอยู่นั้นไปพอดี เมื่อได้ยินเรื่องที่ชายทั้งสองกำลังถกเถียงกันอยู่ก็ขัดขึ้นว่า
“ไม่ใช่ทั้ง ลม และ ทั้ง ผืนธง หรอก ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่” ท่านอาจารย์พูด
“อันที่จริง เป็น จิต ของท่านต่างหากล่ะ ที่เคลื่อนไหว”

นิทานเซ็น เรื่อง วาง


มีพระพรรษามาก กับ พรรษาน้อย สองรูป เดินทางไปด้วยกันจนกระทั่งทั้งคู่ต้องข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่ จำเป็นต้องเดินข้ามเพราะสะพานข้ามแม่น้ำขาดเสียหาย
พระทั้งสองรูปพบผู้หญิงผู้หนึ่งคนซึ่งไม่สามารถข้ามแม่น้ำไปได้เนื่องจากสะพานขาดนั้น
พระพรรษามากจึงอาสาจะให้ผู้หญิงนั้นขี่หลังแล้วข้ามฟากไป
พระพรรษาน้อยเห็นอย่างนั้นจึงรู้สึกขุ่นเคืองว่าทำไมพระพรรษามากจึงทำอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่เป็นพระไม่ควรจะสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้หญิงขนาดนี้ แต่ก็คิดอยู่ในใจไม่ได้ถามพระพรรษามาก
หลังจากที่ข้ามฟากเสร็จพระทั้งสองรูปและผู้หญิงต่างก็แยกย้ายไปตามทางของตน แต่ในใจของพระพรรษาน้อยยังคงคิดวนเวียน ตั้งคำถามในใจตลอดเวลาว่า การกระทำของพระพรรษามากนั้นไม่เป็นการสมควรกับนักบวช คิดวุ่นวายอยู่อย่างนั้นเก็บเงียบอยู่ในใจไม่ถามพระพรรษามาก
ท่านคิดวนเวียนอยู่อย่างนั้น ทำให้ท่านแทบบ้าจนมาถึงจุดหยุดพัก พระพรรษาน้อยอดทนเก็บเรื่องในใจต่อไปอีกไม่ไหวจึงถามพระพรรษามากว่า ท่านทำไมไม่สำรวมถึงความเป็นพระเลย ทำไมถึงได้สัมผัสผู้หญิง และผู้หญิงคนนั้นเป็นคนสวยเสียด้วย ท่านเป็นคนบอกผมเองว่า ท่านเป็นพระที่บริสุทธิ์ไม่ใช่หรือ?
พระพรรษามากประหลาดใจ แล้วย้อนกลับไปถามพระพรรษาน้อยว่า
"ผมวางผู้หญิงสวยคนนั้นไปตั้งหลายชั่วโมงแล้ว เหตุใดท่านยังอุ้มผู้หญิงคนนั้นอยู่อีกเล่า"

นิทานเซ็นเรื่อง ไปตลาด

กาลครั้งหนึ่ง.......
มีวัดในพุทธศาสนาเซน ๒ วัด อยู่ไม่ห่างกันมากนัก เวลาเช้าเด็กวัดก็ต้องออกไปซื้อของในหมู่บ้าน เด็กคนหนึ่งต้องไปเอาผักในหมู่บ้าน จะต้องเดินสวนกับเด็กวัดอีกวัดหนึ่ง ไม่เว้นแต่ละวัน พอเดินสวนกัน เด็กวัดหนึ่งก็ถามเด็กอีกวัดหนึ่งว่า...
"ไปไหน ?"
"ไปยังที่ที่เท้าฉันพาไปนั่นแหละ" เด็กอีกวัดตอบ
เด็กคนแรกได้ยินคำตอบดังนั้น ก็รู้สึกทึ่ง ตอบอย่างนี้ต้องไม่ธรรมดา เป็นการแสดงภูมิทางเซน ครั้นจะพูดอะไร ก็ยังคิดไม่ทัน เดินสวนกันไปเสียก่อน เมื่อกลับถึงวัด จึงเล่าให้อาจารย์ฟัง ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อให้อาจารย์ช่วยไขความหมายนั้น
"พรุ่งนี้ถ้าเจอก็ให้ถามอีก ถ้าเขาตอบว่า จะไปยังที่ที่เท้าพาไป ให้เจ้าถามกลับไปว่า ถ้าเธอไม่มีเท้าล่ะ จะไปที่ใด ? หากเจ้าถามอย่างนี้ เขาจะจน"
เช้ารุ่งขึ้นวันต่อมา เด็กคนแรกก็ใช้คำถามเดิมตามอย่างที่ซักซ้อมไว้ โดยหวังจะต้อน เจ้าคนนั้นให้จนแต้ม
"ไปไหน ?"
"ไปยังที่ที่ลมพัดไป" เจ้าเด็กคนนั้นตอบ
พอได้ยินคำตอบเปลี่ยนไปอย่างนั้น คำถามที่อาจารย์สอนให้ ก็ใช้ไม่ได้ จึงต้องเดินสวนกันไป เมื่อกลับถึงวัดก็เล่าให้อาจารย์ฟัง
อาจารย์ได้ฟังศิษย์เล่า ก็ยิ้ม แล้วบอกว่า "พรุ่งนี้ ถามอีก ถ้าเขาบอกว่าจะไปยังที่ที่ลมพัดไป ก็ให้ถามดักว่า หากไม่มีลมล่ะ จะไปยังที่ใด ?"
รุ่งขึ้น พอเดินสวนกันอีกเด็กวัดคนแรกก็ถามขึ้นอย่างเคยว่า
"ไปไหน ?"
"ไปซื้อผัก" เด็กอีกคนตอบ

นิทานเซ็นเรื่อง นรก สวรรค์ มีจริงหรือ


กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว ..................
มีทหารชาวญี่ปุ่นแต่งเครื่องแบบครบเคร่องพร้อมทั้งดาบซามูไรขึ้นเขาไปหาอาจารย์ฮากูอิน ต้องการจะไปคุยกับพระ เพื่อแก้ข้อข้องใจที่มีมานาน แต่ไม่กล้าถามผู้อื่น กลัวจะถูกหาว่าเป็นคนไม่มีศาสนา
เมื่อมาถึงก็ถามท่านฮากูอินว่า
“ท่านอาจารย์ขอรับ ถ้าเราจะมาว่ากันตามเป็นจริงแล้ว นรก สวรรค์ เป็นของมีจริงหรือไม่ ?”
ท่านฮากูอินหันขวับมาจ้องหน้าทหารคนนั้นทันทีแต่แทนที่จะตอบคำถาม ท่านกลับย้อนถามเอาว่า
“เธอเป็นใคร? “
“กระผมเป็นซามูไร ครับ” ทหารคนนั้นตอบ
ท่านฮากูอินกลับขึ้นเสียงถามอีกว่า
“อะไรกัน อย่างเธอนี่นะ เป็นทหาร เจ้านายคนไหนนะช่างไปเอาคนอย่างเธอมาเป็นลิ่วล้อพลไพร่ หน้าอย่างกะขอทาน”
โดนหลู่เกียรติอย่างนี้ นายทหารก็โมโหมากลุกขึ้นฉับไว มือกุมดาบ
แต่ท่านฮากูอินยังกล่าวสำทับอีกว่า
“ฮึ มีดาบด้วยหรือ คมหรือเปล่านะ ตัดหัวฉันได้ไหม ?”
เหมือนเอาน้ำมันสาดใส่ไฟที่คุนายทหารผู้นั้นก็ชักดาบออกมาทันที ทันใดก็ได้ยินน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยเมตตาของท่านฮากูอินว่า
“นี่ไงลูกเอ๋ย ประตูนรกล่ะ ที่เธอกำลังเป็นอยู่ กำลังเหยียบประตูนรกอยู่ล่ะ ถ้ามีประตูแล้ว นรกจะมีหรือไม่ล่ะ ?”
ฉับพลันทันทีเหมือนกับนายทหารก็สำนึกตัว ทรุดตัวก้มลงกราบท่านฮากูอิน แล้วก็ขอขมาและฝากตัวเป็นศิษย์ ท่านก็เลยกล่าวต่อไปว่า
“นี่ไง ลูกเอ๋ย ประตูสวรรค์ล่ะ ที่เธอกำลังเป็นอยู่ กำลังเหยียบประตูสวรรค์อยู่ล่ะ ถ้ามีประตูแล้ว สวรรค์จะมีหรือไม่ล่ะ ?”

นิทานเซ็นเรื่อง ตาบอดตามไฟ


มีคนตาบอดคนหนึ่ง.... ไปมาหาสู่ท่านอาจารย์บันเกอิ เสมอๆ เมื่อตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่
วันหนึ่ง อาจารย์ เห็นว่าคนผู้นี้ควรจะได้ดวงตาเห็นธรรมเสียที คืนนั้นเมื่อคนตาบอดมาคุยอยู่ที่วัดจนดึก บังเอิญเป็นคืนเดือนมืด ตอนลากลับบ้านท่านอาจารย์ก็ให้คนช่วยหาเทียนไขจุดใส่โคมกระดาษ ให้เดินถือกลับบ้าน
คนตาบอดก็บอกอาจารย์ว่า “ไม่ต้องหรอกครับ กลางคืนหรือกลางวัน สำหรับผมก็เหมือนกัน ผมสามารถกลับเองได้ ไม่ว่ามืดหรือสว่างก็มีค่าเท่ากัน ผมชินเสียแล้ว”
อาจารย์จึงว่า “เอาไฟตามไปเถอะ ตามไปให้คนอื่นเขา ต่างหาก เขาจะได้ไม่ชนเอา”
แล้วคนตาบอดคนนั้น ก็ถือโคมเดินกลับบ้าน
พอมาถึงที่แห่งหนึ่งก็มีคนวิ่งสวนมา กำลังจะชน คนตาบอดจึงตะโกนขึ้นว่า "จะรีบไปไหนกันพ่อคุณ เธอกำลังจะชนฉันน่ะ ตามไฟไว้ให้แล้วมองไม่เห็นรึไง”
แล้วก็มีเสียงตอบมาว่า “ไฟดับแล้ว เทียนของท่านไหม้หมดแล้ว”
ทันทีที่ได้ยินว่า หมดเชื้อไฟที่จะตามส่องไปได้อีก เขาก็โพลงขึ้น ...........
ด้วยดวงตาภายใน ณ ที่ที่ยืนอยู่นั่นเอง

นิทานเซ็นเรื่อง ถูก


จีนสมัยโบราณ ยังมีวัดพุทธศาสนาใหญ่อยู่วัดหนึ่ง มีระเบียบให้คนในวัดมาทำวัตรสวดมนต์กันทุกเช้า ตอนตีสี่ ครั้งนั้น มีภิกษุรูปหนึ่ง ทุกๆ วัน ท่านจะขมีขมันตื่นก่อนเวลาจุดไฟเดินส่องไปตามทางปูหินก่อนใครๆ เพื่อจับหอยทากที่คลานอยู่ตามทางเท้า ไปปล่อยไกลๆ จะได้ไม่ถูกเหยียบตาย ท่านทำอย่างนี้ทุกวันจนภิกษุรูปอื่นสังเกตเห็น ก็เลยเกิดการสอบถามขึ้น ภิกษุรูปนั้นก็ตอบว่า
“ผมมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อประกอบความดี สร้างบารมีเรื่อยไป ”
ภิกษุอีกรูปหนึ่งก็ค้านขึ้นว่า “ท่านทราบไหม ที่ทำอย่างนี้เหมือนกับก่อกรรมทำเข็ญ ทำให้ชาวสวนต้องเดือดร้อนจากหอยทากข้างนอกเขากำจัดสัตว์ชนิดนี้กันหมดแล้ว เหลือแต่ในวัดนี่แหละ ที่ยังแพร่พันธุ์อยู่”
ภิกษุอีกรูปก็พูดว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านมิได้มีเจตนาให้เป็นภัยแก่คนทั้งหลาย ตรงกันข้ามท่านกำลังบำเพ็ญหน้าที่ของโพธิสัตว์ ทำการปลดปล่อยสัตว์แปดหมื่นสี่พันจากภัยพิบัติ และยังช่วยปลดปล่อยทำความปลอดภัยให้พวกเราในวัดนี้ ได้บำเพ็ญความบริสุทธิ์ ไม่ต้องทำชีวิตให้ตกล่วงไปอีกด้วย”
เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ ทั้งหมดก็พากันไปหาหลวงพ่อโตกุซัน เจ้าอาวาส ท่านอาจารย์ผู้เฒ่านิ่งฟังการชี้แจงของแต่ละราย ด้วยความกรุณาและเห็นใจเป็นที่สุด ท่านได้แต่จ้องหน้าตั้งใจฟังคนนั้นที คนนี้ที
ภิกษุรูปแรกชี้แจงว่า “ผมก็มีอายุมากแล้ว มาบวชเรียนในพุทธศาสนานี้ก็เพื่อทำความดี แม้แต่ความดีน้อยหนึ่งก็หมั่นประกอบกระทำทั้งกลางวันกลางคืน ย่อมจะเต็มได้เหมือนหยาดน้ำทีละหยด ก็อาจเต็มตุ่มได้ อย่างนี้จะว่าเป็นโทษบาปได้อย่างไรครับ หลวงพ่อ”
ท่านอาจารย์พอฟังจบแล้วก็ตอบแสดงความชอบใจว่า
“ถูก ถูก ถูกแล้ว”
ภิกษุรูปที่สอง ชี้แจงว่า “ถ้าว่าโดยเจตนากันแล้ว หากมีคนใดไปเหยียบหอยทาก เวลาเดินไปสวดมนต์ตอนมืดๆ นั่นก็มิใช่เจตนาฆ่า เมื่อไม่มีเจตนา ก็มิใช่เป็นกรรมอันใด ผลยังทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเดือดร้อนกับหอยทากอันเป็นสัตว์ทำลายพืชผล ทั้งคนในวัดยังปลอดภัยจากโรคที่มันเป็นพาหะอีกด้วย เป็นผลดีทั้งตัวเองและผู้อื่น มิใช่หรือครับหลวงพ่อ”
ท่านอาจารย์พอฟังจบแล้วก็ตอบแสดงความชอบใจว่า
“ถูก ถูก ถูกแล้ว”
ภิกษุรูปที่สาม ชี้แจงว่า “การบำเพ็ญธรรมให้ความปลอดภัยแก่คนส่วนใหญ่ โดยมีใครคนใดคนหนึ่งเสียสละ รับเป็นภาระไปเสีย เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกๆ คนเขาได้ประกอบกระทำความหลุดรอดไปตามทางของเขา ตลอดถึงสัตว์ใดๆ แม้จะอยู่ในร่างที่ต่ำต้อย ธรรมชาติแห่งความตรัสรู้ก็มิได้น้อยไปหรือมากขึ้น เพียงปัญญาญาณโพลงวาบเดียว ผลกรรมใดๆ แม้มากน้อยเท่าใด ย่อมถูกลกเลิกเสียหมดสิ้น ดูแต่มหาโจรใจร้าย บาปกรรมเกรอะกรังก็ยังเปลื้องกรรมอันอนันต์นั้นได้เพียงชั่วอึดใจเดียว อย่างนี้จะมิเป็นการถูกต้องหรือครับหลวงพ่อ”
ท่านอาจารย์พอฟังจบแล้วก็ตอบแสดงความชอบใจว่า
“ถูก ถูก ถูกแล้ว”
ขณะนั้น สามเณรอุปัฏฐาก กำลังนั่งพัดอยู่ข้างหลังอาจารย์ผู้เฒ่า ได้ฟังเขาชี้แจงทีละคนๆ และหลวงพ่อก็ยอมรับว่าแต่ละรายล้วนถูก ถูก ถูก เณรอดทนฟังต่อไปไม่ได้ ก็เอ่ยขัดขึ้น เพื่อขอโอกาสแสดงความคิดเห็น หลวงพ่อโตกุซัน ทราบดังนั้นก็เหลียวหมุนตัวมาฟังอย่างตั้งใจสามเณรอีกรายหนึ่ง….
สามเณรน้อยติงว่า “หลวงพ่อได้แต่ร้องว่า ถูก ถูก ถูก มันจะมีถูกกันไปหมดทุกฝ่ายได้อย่างไร ถ้ามีอันใดถูก อันอื่นก็ต้องผิดซิหลวงพ่อ”
ท่านอาจารย์พอฟังจบแล้วก็ตอบแสดงความชอบใจอีกว่า
“อ๊ะ ! เธอนี่ก็ ถูก ถูก ถูกแล้ว”

นิทานเซ็นเรื่อง เมื่อโซอันตื่น

เมื่อหลายร้อยปีก่อน มีเรื่องเล่าที่กล่าวถึงโชอันชาวเมืองเกียวโต ผู้ซึ่งในบั้นปลายได้บวชเป็นพระในนิกายโซโตะเซน เล่ากันว่าตั้งแต่โชอันยังเป็นเด็กเล็ก ๆ คนทั้งเมืองเกียวโตก็รู้จักโชอันกันถ้วนทั่ว ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพราะโชอันเป็นลูกโทนของเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในเมืองนั้น หรือว่าพ่อของโชอันจะเป็นคนใจบุญสุนทานโอบอ้อมอารีที่สุดในเมืองนั้น และไม่ใช่เพียงว่าโชอันเป็นเด็กที่ฉลาดกว่าเด็กทั้งหมดในวัยใกล้เคียงกัน
ทั้งไม่ใช่ว่าเพราะโชอันเป็นเด็กที่เรียบร้อยและมีจริยาวัตรงดงามที่สุดคนหนึ่งในเมืองเกียวโต
แต่ทว่าสิ่งที่ทำให้คนรู้จักโชอันดีเป็นพิเศษอยู่ที่ความล้มเหลวในกิจการงานในทุก ๆ ด้านของโชอัน จนสุดท้ายเขาจำต้องหนีหายไปจากเกียวโตตั้งแต่ก่อนวัยกลางคน ไม่มีใครนึกฝันว่าในที่สุดโชอันผู้ล้มเหลวในชีวิตไม่เป็นท่า จะกลายเป็นพระผู้รอบรู้ปฏิบัติเซน ที่มีชื่อเสียงด้านปัญญากระเดื่องดังไปทั่วญี่ปุ่น ไม่มีใครคิดว่าเขาจะกลับมาเกียวโตอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้หายหน้าหายตาไปหลายสิบปี
กลับมาในฐานะของปรมาจารย์ผู้บรรลุธรรม ทั้ง ๆ ที่ก่อนนี้โชอันคือผู้ล้มเหลวโดยแท้
ความล้มเหลวของโชอันนั้นเป็นเรื่องที่ชาวเมืองเกียวโตทุกคนรู้กันทั่ว และบางคนถึงกับนำเอาเกร็ดชีวิตของโชอันไปอุปมาอุปไมยสอนลูกสอนหลาน ถึงความหายนะของโชอันที่เป็นผลของความไม่เอาไหนอย่างไม่น่าเชื่อ โชอันที่เป็นคนฉลาดที่สุดกลับบริหารทรัพย์สินสมบัติไม่เป็น หลังจากที่ท่านเศรษฐีผู้เป็นพ่อตายไป โชอันไม่ดื่มเหล้าเล่นการพนันหรือเสเพล กลับสามารถทำให้ทรัพย์สินเงินทองต้องมลายสูญหายไปจนหมดสิ้นอย่างรวดเร็วจากการบริหารงานธุรกิจของเขา
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่โชอันหมดตัวลง บรรดาลูกจ้างและคนในบ้านแทบทุกคนของโชอันพากันได้ดี หลายคนกลายเป็นเศรษฐีย่อย ๆ อีกหลายคนมีศักดิ์ศรีมีฐานะดีกว่าเดิม หรืออย่างน้อยก็พอมีพอกินไม่ต้องอาศัยหรือเป็นลูกจ้างใครอีกต่อไป นั่นล้วนเป็นผลดีผลพลอยได้จากโชอันทั้งสิ้น
ความล้มเหลวในทางเกียรติยศชื่อเสียงยิ่งไม่น่าเชื่อ แม้ว่าชาวบ้านทุกคนจะรู้จักโชอัน หลายคนได้อาศัยใบบุญของเศรษฐีที่เป็นพ่อ แต่ด้วยนิสัยยินยอมประนีประนอมของเขา ทำให้ไม่มีใครอยากเสนอตำแหน่งหน้าที่อันทรงเกียรติไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใดให้กับโชอัน
ตำแหน่งสำคัญ ๆ กลับไปได้กับคนที่เรียนหนังสือตกแล้วตกอีก จนอาจารย์ท้อใจ หรือไม่ก็ได้กับคนตลบตะแลงขี้คุยขี้เหล้า ร้ายกว่านั้น ตำแหน่งที่เกี่ยวกับความปลอดภัยและความยุติธรรม กลับไปได้กับนักเลงหัวไม้ซามูไรเศษสวะอย่างไม่น่าเชื่อ
ทั้ง ๆ ที่มีหญิงสาวทรงรูปโฉมฐานะและตระกูลดีหลายคนในเมือง ที่เพียงแต่โชอันสนใจบ้างหรือใช้ความพยายามบ้างแม้เพียงสักเล็กน้อย ก็จะมีโอกาสได้มาครอบครองอย่างแน่นอน แต่โชอันไม่รู้ว่าไปทำอย่างไรจึงพลาดไปทั้งหมด ปล่อยให้พวกนักเลงคนขี้คุยรวมทั้งลูกน้องลูกจ้างของโชอันเองคว้าเอาไปครองกันจนหมดสิ้น
ดังนั้นหลังจากที่โชอันกลับมาและเปิดสำนักโซโตะเซน หลายคนจึงสนใจที่จะเรียนรู้ หรือว่าความสำเร็จของการแสวงหาความจริงจะได้มาก็ด้วยความล้มเหลวซ้ำซ้อนที่ปวดร้าว
เมื่อหลายคนถาม โชอันจึงเล่าให้ฟังว่า เขาก็ไม่รู้ว่าอะไรคือความสำเร็จและเขาไม่สนใจตรงนั้น โชอันเพียงบอกว่า เขารู้เพียงว่าเขาได้ตื่นขึ้นจากความฝันที่ไม่ใช่ความฝันเท่านั้น
โชอันบรรยายเป็นโคลงที่มีห้าบท ตามแนวที่ดัดแปลงมาจากร่ายของเดอเมลโลดังนี้ :
"ข้าเดินท่องเที่ยวอดมื้อกินมื้อมาสิบเจ็ดปี ท่องเที่ยวหาความสำเร็จในโลกกว้าง พายุฝน เมฆที่มืดครึ้ม ฟ้าแลบฟ้าคะนอง ภาพที่ซ้อนภาพ ที่แท้ - เบื้องหลังคือฟ้าสีครามตะวันสีทอง"
"ข้าจำได้ว่าข้าเดินเข้าไปในถ้ำที่ลึกและมืดสนิท ข้าทรุดตัวลงนั่งที่มุมหนึ่ง คนเดียวแท้ ๆ ข้าครุ่นคนึงถึงเรื่องของชีวิต ข้าครุ่นคะนึงถึงชีวิตที่เส็งเคร็ง ล้มเหลว ไร้ค่า ไร้ความหมาย"
"ข้าเห็นดอกไม้บนต้นไม้หลายต้นริมทางเดิน แต่ก็เห็นเมล็ดพันธุ์อีกมากกว่ามาก ที่ไม่สามารถเติบโตเป็นต้นได้ หน่ออีกมากที่โตไม่ทันกับถูกเหยียบ ถูกสัตว์แทะวัวแพะกัดกิน แดดร้อนเฉาตาย"
"ข้าเห็นไข่แมลงไข่นกไข่ต่าง ๆ มากมาย โตเป็นตัวแล้วก็ถูกกัดกินตายไป บ้างไม่ทันโตก็ฝ่อตกแตกตายไป ไข่เต่าทะเลเป็นพันเหลือเพียงหนึ่ง เพียงเพื่อหนึ่ง - พันหมื่นต้องเสียสละ"
"ข้าเห็นคนมากหลายแย่งชิงกันเพื่อเพียงหนึ่ง แย่งชิงกันเป็นนักแสดงนางงามเป็นดารา แย่งชิงเป็นใหญ่...ขอข้าก่อนเป็นหัวหน้า แย่งชิงเป็นผู้แทนรัฐมนตรีมหาเสนา แย่งกันเป็นนักปราชญ์เป็นศาสดา"
"ข้าผ่านวันชั่วโมงที่ไร้ความหมายหลากหลาย คำพูดที่ไร้ค่าหลากหลาย ความคิดพลังงานไร้ผลที่หลากหลาย แผนงานโครงการที่ไร้ความหมาย เจ็บไข้เจ็บใจคือ...ความโง่ที่หามาเอง"
"ข้านึกถึงโอกาสทองแสงแห่งความสำเร็จ เกียรติยศศักดิ์ศรีที่ข้าทิ้งมันไป ความงามความยิ่งใหญ่ที่ไม่สนใจ ละทิ้งไปทั้งที่ควรหาควรได้ นึกถึงสัญญาที่ข้าไม่เคยรักษามัน"
"ทั้งหมดและเดี๋ยวนี้...ข้าเข้าใจและวางเฉย ไม่เสียดายเสียใจหรือรู้สึกผิด ธรรมชาติหลากหลายไม่เท่ากัน ลำไผ่มียาวมีสั้น...ทุกตอนทุกขั้นคือความหมาย หนึ่งหรือหมื่นหรือพัน...ต่างกันที่ความหมาย..."

นิทานเซ็นเรื่อง จิตใจที่งดงาม


ดึกสงัด ขโมยคนหนึ่ง ถือมีดย่องเข้าไปในอาราม ข่มขู่อาจารย์เซ็นชีหลี่ว่า
"เอาเงินออกมาเสียดี ๆ ไม่อย่างนั้นจะฆ่าเสีย"
อาจารย์เซ็นชีหลี่กล่าวว่า "อย่ามารบกวน อาตมาทำสมาธิภาวนา เงินอยู่ในลิ้นชัก ไปหยิบเอง!"
ขโมยคนนั้นรีบไปค้นที่ลิ้นชัก เก็บเอาเงินไปหมด
ขณะที่จะจากไปอาจารย์เซ็นชีหลี่กล่าวว่า "อย่าเอาไปหมดนะ เหลือไว้หน่อยให้อาตมาซื้อดอกไม้ไหว้พระพรุ่งนี้"
ขโมยจึงทิ้งเงินเล็กน้อยไว้ในลิ้นชัก พอหันหลังจะจากไปอาจารย์เซ็นชีหลี่ก็กล่าวอีกว่า "ไม่ขอบคุณสักคำหรือ?"
ขโมยจึงกล่าวขอบคุณก่อนสาวเท้าจากไป
หลังจากนั้น ขโมยผู้นี้ได้ก่อคดีขึ้นอีก กระทั่งถูกมือปราบจับตัวไว้ได้ ขโมยให้การว่าเคยปล้นเงินของอาจารย์เซ็นชีหลี่
ขณะที่มือปราบเรียกตัวอาจารย์เซ็นชีหลี่ไปให้การชี้ตัวจำเลย อาจารย์ชีหลี่กลับให้การว่า "เขาไม่ใช่ขโมย เขาไม่ได้ปล้นอาตมา อาตมาให้เงินเขาเอง เขาขอบคุณอาตมาแล้ว"
คำให้การของอาจารย์เซ็นชีหลี่ช่วยให้ขโมยผู้นี้ได้ลดหย่อนผ่อนโทษ
เมื่อขโมยผู้นี้พ้นโทษจึงปลงผมออกบวชขอเป็นศิษย์จากอาจารย์เซ็นชีหลี่อย่างซาบซึ้งตื้นตันและยินยอมพร้อมใจ
เห็นได้ชัดว่าอาจารย์เซ็นชีหลี่เป็นอาจารย์เซนที่แท้จริง ท่านมิเพียงละกิเลส บำเพ็ญธรรม เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากสังสารวัฏเท่านั้น ยังชักนำผู้อื่นสู่หนทางหลุดพ้นด้วยจิตใจเมตตาการุณย์ เปี่ยมด้วยปฏิภาณและสติปัญญาอันเฉียบแหลม
คนเราถ้าช่วยตัวเองให้อยู่สุขสบายได้แล้ว ควรจะช่วยเหลือผู้อื่นด้วย เพราะการช่วยเหลือผู้อื่นก็เท่ากับสร้างบุญกุศลให้ตัวเอง ถึงไม่ได้หวังผลตอบแทนก็ตาม

นิทานเซ็นเรื่อง เซ็นเนื้อเซ็นกระดูก

มื่อท่านโพธิธรรมอยู่ในประเทศจีนนานถึง ๙ ปี ท่านก็อยากจะกลับอินเดีย ทีนี้ไหนๆ จะกลับทั้งที อยากจะลองสอบดูว่า บรรดาศิษย์ต่างๆ ที่สอนไว้ที่นี่ ใครจะรู้อะไรกี่มากน้อย ก็เลยเรียกมาประชุม ถามทำนองเป็นการสอบไล่ว่า ธรรมะที่แท้จริงนั้นคืออะไร ข้อสอบมีเพียงสั้นๆว่า "ธรรมะที่แท้จริง นั้นคืออะไร?"

ศิษย์ชั้นหัวหน้าศิษย์ ที่เรียกว่า ศิษย์ชั้นมีปัญญา เฉียบแหลม ชื่อ ดูโฟกุ ก็พูดขึ้นว่า
"ที่อยู่เหนือการยอมรับ และอยู่เหนือการปฏิเสธ นั้นแหละ คือ ธรรมะ ที่แท้จริง"
คำตอบอย่างนี้ ก็ถูกมากแล้ว ถ้าผู้ใดฟังไม่เข้าใจเรื่องนี้ พึงจัดตัวเองว่า เป็นผู้ที่ยังไม่รู้ธรรมะได้เลย ไม่รู้ธรรมะอะไรเลยก็ว่าได้ ถ้าไม่รู้จัก สิ่งที่เหนือการยอมรับ และการปฏิเสธ
ท่านอาจารย์ ก็บอกว่า "เอ้า! ถูก! แกได้ หนังของฉันไป"
นี้หมายถึง หนังที่หุ้มชั้นนอก ไม่ใช่เนื้อ ไม่ใช่กระดูก คือ ชั้นหนังแท้ๆ เสร็จแล้ว คนนี้ นั่งลง
นางชีคนที่ชื่อ โซจิ ก็ยืนขึ้นแล้วบอกว่า "สิ่งที่เห็นครั้งเดียว แล้วเป็นเห็นหมด เห็นตลอดกาล นั่นแหละ คือธรรมะแท้จริง"
ท่านอาจารย์ ก็บอกว่า " เอ้า! ถูก! แกได้ เนื้อของฉันไป" คือมันถูกกว่าคนทีแรก จึงได้เนื้อไป แล้วเขาก็นั่งลง
คนที่สาม ยืนขึ้น ตอบว่า "ที่ไม่มีอะไรเลย นั่นแหละ คือ ธรรมะ"
เขาใช้คำว่า ไม่มีอะไรเลย เท่านั้น แต่เราขยายความออกไปก็ได้ว่า ไม่มีอะไรที่ถือเป็นตัวตนเลย นั่นแหละคือธรรมะแท้จริง
อาจารย์ ก็บอกว่า "ถูก! แกได้ กระดูกของฉันไป" คือ ลึกถึงชั้นกระดูก
ศิษย์อีกคนหนึ่ง เป็นศิษย์ก้นกุฎิ ชื่อ เอก้า ยืนขึ้น หุบปากนิ่ง แล้วยังเม้มลึกเข้าไป ซึ่งแสดงว่า นิ่งอย่างที่สุด เป็นการแสดงแก่อาจารย์ว่า นี่แหละ คือ ธรรมะ การที่ต้องหุบปากอย่างนี้แหละ คือธรรมะ
อาจารย์ก็ว่า "เออ! แกได้ เยื่อในกระดูก ของฉันไป"

นิทานเซ็ฯ เรื่อง ยิ่งเร็วยิ่งช้า


มีหนุ่มคนหนึ่ง เขาอยากจะเป็นนักฟันดาบที่เก่งกาจ เขาไปหาอาจารย์สอนฟันดาบ ให้ช่วยสอนเขาให้เป็นนักฟันดาบ เขาถามอาจารย์ว่า จะใช้เวลาสักกี่ปี อาจารย์ ตอบว่าประมาณ 7 ปี เขาชักจะรวนเร เพราะว่า 7 ปี นี้มันเป็นเวลามิใช่น้อย ฉะนั้น เขาขอร้องใหม่ว่า เขาจะพยายาม ให้สุดฝีมือ สุดความสามารถ ในการศึกษา ฝึกฝน ทั้งกำลังกายกำลังใจ ทั้งหมด ถ้าเป็นเช่นนี้ จะใช้เวลาสักกี่ปี อาจารย์ก็บอกว่า "ถ้าอย่างนั้น ต้องใช้เวลาสัก 14 ปี" แทนที่จะเป็น 7 ปี กลายเป็น 14 ปี
หนุ่มคนนั้นก็โอดครวญขึ้นมาว่า บิดาของเขาแก่มากแล้ว จะตายอยู่รอมร่อแล้ว เขาจะพยายามอย่างยิ่งให้บิดาของเขาได้ทันเห็นฝีมือฟันดาบของเขาก่อนตาย เขาจะแสดงฝีมือฟันดาบของเขา ให้บิดาของเขาชมให้เป็นที่ชื่นใจแก่บิดา เขาจะพยายาม อย่างยิ่งที่จะแสดงความสามารถให้ทันสนองคุณของบิดา จะต้องใช้เวลาสักเท่าไร ขอให้อาจารย์ ช่วยคิดดูให้ดีๆ
ท่านอาจารย์ก็บอกว่า "ถ้าอย่างนั้นต้อง 21 ปี" นี้มันเป็นอย่างไร ขอให้นึกดู แทนที่จะ ลดลงมา มันกลายเป็นเพิ่มขึ้นเป็น 21 ปี หนุ่มคนนั้นจะเล่นงานอาจารย์ อย่างไรก็ไม่ได้ เพราะเป็นอาจารย์ จะทำอย่างอื่นก็ไม่ถูก นึกไม่ออก เพราะไม่มีใครจะเป็นอาจารย์สอนฟันดาบให้ดีกว่านี้ ซึ่งเป็นอาจารย์ของประเทศ ดังนั้น เขาก็ซังกะตาย อยู่ไปกะอาจารย์ ด้วยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีนั่นเอง
หลายวันต่อมา อาจารย์ก็ใช้คนคนนี้ แทนที่จะเรียกไปสอนให้ใช้ดาบ ฟันดาบ กลับให้ทำครัว ให้ทำงานในครัว ให้ตักน้ำผ่าฟืน หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เรียกว่า ต้องทำงานในครัว
หลายวันล่วงมา วันหนึ่งอาจารย์ผลุนผลันเข้าไปในครัวด้วยดาบสองมือ ฟันหนุ่มคนนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้สึกตัว อุตลุดเป็นการใหญ่ เขาก็ต้องต่อสู้ ไปตามเรื่องตามราว ของเขา ตามที่เขาจะสู้ได้ โดยใช้อะไรแทนดาบ หรือด้วยมือเปล่าๆ หรืออะไรก็สุดแท้ สองสามอึดใจแล้วก็เลิกกัน อาจารย์ก็กลับไป แล้วต่อมาอีกหลายวัน เขาก็ถูกเข้าโดยวิธีนี้อีก และมีบ่อยๆ อย่างนี้เรื่อยไป ไม่กี่ครั้งเขาก็กลายเป็นนักฟันดาบขึ้นมาได้ โดยไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งอาจารย์บอกว่า กลับบ้านได้ คือจบหลักสูตรแล้ว และปรากฏว่า ต่อมาหนุ่มคนนี้ ก็เป็นนักดาบลือชื่อของประเทศญี่ปุ่นไป
นิทานของเขาก็จบ

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นิทานเซน เรื่อง ใกล้พระพุทธเจ้าเข้าไปแล้ว


นักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้ไปเยี่ยมธยานาจารย์คือ อาจารย์แห่งนิกายเซ็น แห่งหนึ่ง ชื่อว่า กาซาน เพราะนิสิตคนนั้นเขาแตกฉานในการศึกษา เขาจึงถามอาจารย์กาซานว่า เคยอ่าน คริสเตียน ไบเบิล ไหม ท่านอาจารย์กาซาน ซึ่งเป็นพระเถื่อนอย่างพระสมถะนี้จะเคยอ่านไบเบิลได้อย่างไร จึงตอบว่า เปล่า ช่วยอ่านให้ฉันฟังที
นิสิตคนนั้น ก็อ่านคัมภีร์ไบเบิล ตอน Saint Mathew ไปตามลำดับ จนถึงประโยคที่ว่า ไม่ต้องห่วงอนาคต คือไม่ต้องห่วงวันพรุ่งนี้ วันพรุ่งนี้ มันจะเลี้ยงตัวมันเองได้ แม้แต่ นกกระจอก ก็ไม่อดตาย ทำนองนี้
ท่านอาจารย์ กาซาน ก็บอกว่า ใครที่พูดประโยคนี้ได้ ฉันคิดว่า เป็นผู้รู้แจ้งคนหนึ่งทีเดียว คือเป็น An enlighten one คนหนึ่งทีเดียว แต่นิสิตคนนั้น ก็ยังไม่หยุดอ่าน คงอ่านต่อไป มีความว่า
"ขอเถิด แล้วจะได้ จงแสวงหาเถิด แล้วจะพบ จงเคาะเข้าเถิด แล้วมันจะเปิดออกมา เพราะว่า ใครก็ตามที่ขอแล้ว จะต้องได้รับ ใครก็ตาม ที่แสวงหา แล้วย่อมได้พบ และใครก็ตาม ที่เคาะเข้าแล้ว ประตูก็จะเปิดออกมา"
พอถึงตอนนี้ อาจารย์ กาซาน ก็ว่า “แหม วิเศษที่สุด ใครก็กล่าวอย่างนี้ ก็ใกล้พระพุทธเจ้าเข้าไปแล้ว”
นิทานของเขาก็จบ

นิทานเซน เรื่อง พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง


ในนครโตเกียว สมัยศักราชเมจิ มีอาจารย์ที่เก่งๆ อยู่สองคน คนหนึ่งชื่อ อันโช เป็นครูบาอาจารย์ในนิกายชินงอน คนนี้ไม่ดื่มเลย อีกคนหนึ่ง ชื่อ แตนแซน หรือ ตานซาน ก็แล้วแต่จะเรียก เป็นครูบาอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยด้วย ไม่เคยถือศีลเลย จึงดื่มจัด หรือ ละโมบในการบริโภค
วันหนึ่ง อาจารย์อันโชไปเยี่ยม อาจารย์ตานซาน กำลังดื่มอยู่พอดี อาจารย์ตานซานก็ถามว่า จะไม่ดื่มบ้างเทียวหรือ คือกล่าวชักชวนให้ดื่มนั่นเอง
อันโชก็บอกว่า ไม่เคยดื่มเลย
ตานซานก็ว่า คนที่ไม่เคยดื่มเลยนั้นน่ะ ไม่ใช่คน
ฝ่ายอันโช ก็ฉุนกึก นิ่งเงียบไปขณะหนึ่ง ในที่สุด ก็พูดขึ้นมาได้ว่า ท่านว่าฉันไม่ใช่คน เพราะเพียงแต่ฉันไม่ดื่ม ถ้าฉันไม่ใช่คนแล้ว ฉันจะเป็นอะไร
อาจารย์ตานซาน ก็บอกว่า เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง
แล้วนิทานของเขาก็จบ

วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นิทานเซน เรื่อง ถ้ารักก็จงรักอย่างเปิดเผย

ในวัดนิกาย เซ็น อีกเหมือนกัน มีภิกษุ อยู่หลายสิบรูป และมี นักบวชผู้หญิง ที่เรียกว่า nun อยู่คนหนึ่ง ชื่อ เอฉุ่น รวมอยู่ด้วย เอฉุ่น เป็นหญิง ที่สวยมาก แม้จะเอาผมออก เสียแล้ว แม้จะใช้ เครื่องนุ่งห่ม ของนักบวช ที่ปอนมาก ก็ยังสวย อย่างยิ่ง อยู่นั่นเอง และทำความ วุ่นวาย ให้แก่ภิกษุทั้งหมด นั้นมาก แทบว่า จะไม่มีจิตใจ ที่จะสงบได้ ภิกษุองค์หนึ่ง ทนอยู่ไม่ได้ ก็เขียนจดหมาย ส่งไปถึง ขอร้อง ที่จะมีการพบ อย่าง private คือเป็นการขอพบ เฉพาะตัว เอฉุ่น ก็ไม่ตอบจดหมายนั้น อย่างไร แต่พอวันรุ่งขึ้น กำลังประชุม อบรมสั่งสอน กันอยู่ ซึ่งมีชาวบ้าน จำนวนมาก รวมอยู่ด้วย พอสั่งสอน จบลง เอฉุ่น ก็ยืนขึ้น กล่าวถึง ภิกษุนั้นว่า ภิกษุที่เขียนจดหมาย ถึงฉันนั้น ขอให้ก้าวออกมา ข้างหน้า จากหมู่ภิกษุ เหล่านั้นเถิด ถ้ารักฉันมากจริงๆ ก็จงมากอดฉัน ที่ตรงนี้
แล้วนิทานของเขาก็จบ

นิทานเซน เรื่อง ความเชื่อฟัง

ธฺยานาจารย์ชื่อ เบ็งกะอี เป็นผู้มีชื่อเสียงในการเทศนาธรรม คนที่มาฟังท่านนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ในวงของ พวกนิกายเซ็น พวกนิกายอื่น หรือคนสังคมอื่น ก็มาฟังกัน ชนชั้นไหนๆ ก็ยังมาฟัง เพราะว่า ท่านไม่ได้เอาถ้อยคำในพระคัมภีร์ หรือในหนังสือ หรือ ในพระไตรปิฎกมาพูด แต่ว่าคำพูดทุกคำนั้น มันหลั่งไหลออกมาจากความรู้สึกในใจของท่านเองแท้ๆ ผลมันจึงเกิดว่า คนฟังเข้าใจ หรือชอบใจ แห่กันมาฟัง จนทำให้วัดอื่นร่อยหรอคนฟัง เป็นเหตุให้ ภิกษุรูปหนึ่ง ในนิกายนิชิเรน โกรธมาก คิดจะทำลายล้างอาจารย์เบ็กกะอี คนนี้อยู่เสมอ
วันหนึ่ง ในขณะที่ท่านองค์นี้กำลังแสดงธรรมอยู่ในที่ประชุม พระที่เห็นแก่ตัวจัดองค์นั้น ก็มาทีเดียว หยุดยืน อยู่หน้าศาลา แล้วตะโกนว่า
“เฮ้ย! อาจารย์เซ็น หยุด ประเดี๋ยวก่อน ฟังฉันก่อน ใครก็ตามที่เคารพท่าน ท่านจะทำอย่างไร ที่จะทำให้ฉันเคารพเชื่อฟังท่านได้”
เมื่อภิกษุอวดดีองค์นั้น ร้องท้าไปตั้งแต่ชายคาริมศาลา ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ก็ว่า
“มาซี ขึ้นมานี่ มายืนข้างๆ ฉันซี แล้วฉันจะทำให้ดูว่า จะทำอย่างไร”
พระภิกษุนั้นก็ก้าวพรวดพราดขึ้นไปด้วยความทะนงใจ ฝ่าฝูงคนเข้าไปยืนหรา อยู่ข้างๆ ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ก็ว่า
“ยังไม่เหมาะ มายืนข้างซ้าย ดีกว่า”
พระองค์นั้น ก็ผลุนมาทีเดียว มาอยู่ข้างซ้าย ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ก็บอกอีกว่า
“อ๋อ! ถ้าจะพูดให้ถนัด ต้องอย่างนี้ ต้องข้างขวา ข้างขวา”
พระองค์นั้น ก็ผลุนมาทางขวา พร้อมกับมีท่าทางผยองอย่างยิ่ง พร้อมที่จะท้าทายอยู่เสมอ ท่านอาจารย์เบ็งกะอีจึงว่า
“เห็นไหมล่ะ ท่านกำลังเชื่อฟังฉันอย่างยิ่ง และในฐานะที่ท่านเชื่อฟังอย่างยิ่งแล้ว ฉะนั้น ท่านจงนั่งลง ฟังเทศน์เถิด”
นี่เรื่องก็จบลง

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ธรรมธาร: ปราการด่านสุดท้าย-พระไพศาล

ธรรมธาร: ปราการด่านสุดท้าย-พระไพศาล

นิทานเซน เรื่อง อย่างนั้นหรือ



ณ สำนักเซ็น ของอาจารย์ เฮ็กกูอิน ซึ่งเป็นวัดที่เลื่องลือมาก เป็นเหมือนกับว่า เป็นที่พึ่งของหมู่บ้าน ที่ร้านชำใกล้ๆ วัดนั้น มีหญิงสาวสวยคนหนึ่ง เป็นลูกเจ้าของร้าน ทีนี้ โดยกะทันหัน ปรากฏว่า มีครรภ์ขึ้นมา พ่อแม่เขา พยายาม ขยั้นขยอถาม ลูกสาวก็ไม่บอก แต่เมื่อถูกบีบคั้นหนักเข้า ก็ระบุชื่อ ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน
เมื่อหญิงสาวคนนั้นระบุอาจารย์เฮ็กกูอินเป็นบิดาของเด็กที่อยู่ในครรภ์ พ่อแม่โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ไปที่วัด แล้วก็ไปด่าท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ด้วยสำนวนโวหารของคนที่โกรธที่สุดที่จะด่าได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ไม่มีอะไรจะพูด นอกจากว่า "Is that so?" คือ ว่า "อย่างนั้นหรือ"
สองคนด่าจนเหนื่อย ไม่มีเสียงจะด่า ไม่มีแรงจะด่า ก็กลับไปบ้านเอง
ทีนี้ พวกชาวบ้านที่เคยเคารพนับถือ ก็พากันไปด่าว่าเสียที ที่เคยนับถือ อย่างนั้น อย่างนี้ ท่านก็ไม่มีประโยคอะไรที่จะพูด นอกจากว่า "Is that so?"
พวกเด็กๆ ก็ยังพากันไปด่าว่า พระบ้า พระอะไร สุดแท้แต่ ที่จะด่าได้ ตามภาษาเด็ก ท่านก็ว่า "Is that so?" ไม่มีอะไรมากกว่านั้น
ต่อมา เด็กคลอดออกมาจากครรภ์ บิดามารดาที่เป็นตายายของเด็ก ก็เอาเด็กไปทิ้งไว้ให้ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอินในฐานะเป็นการประชด หรือ อะไรก็สุดแท้ ว่า "แกต้องเลี้ยงเด็กคนนี้"
ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน ก็มีแต่ "Is that so?" ตามเคย
ท่านรับเด็กไว้ และต้องหานม หาอาหารของเด็กอ่อนนั้น จากบุคคลบางคน ที่ยังเห็นอกเห็นใจ ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอินอยู่ พอเลี้ยงเด็กนั้นให้รอดชีวิต เติบโตอยู่ได้
ทีนี้ ต่อมานานเข้า หญิงคนที่เป็นมารดาของเด็กเหลือที่จะทนได้ มันเหมือนกับไฟนรก เข้าไปสุมอยู่ในใจ เพราะเขาไม่ได้พูดความจริง ฉะนั้น วันหนึ่ง เขาจึงไปสารภาพบอกกับบิดามารดาของเขาว่า บิดาที่แท้จริงของเด็กนั้น คือ เจ้าหนุ่มร้านขายปลา
ทีนี้ บิดามารดา ตายายคู่นั้น ก็มีจิตใจ เหมือนกับนรกเผาอยู่ข้างใน อีกครั้งหนึ่ง รีบวิ่งไปที่วัด ไปขอโทษ ขอโพย ต่ออาจารย์เฮ็กกูอิน ขอแล้ว ขอเล่าๆ เท่าที่จะรู้สึกว่า เขามีความผิดมากอย่างไร ก็ขอกันมากมายอย่างนั้น
ท่านก็ไม่มีอะไร นอกจาก Is that so? แล้วก็ขอหลานคนนั้น คืนไป
ต่อมา พวกชาวบ้านที่เคยไปด่าท่านอาจารย์ ก็แห่กันไปขอโทษอีก เพราะความจริงปรากฏขึ้น เช่นนี้ ขอกันใหญ่ ไม่รู้กี่สิบคน ขอกันนานเท่าไร ท่านก็ไม่มีอะไรจะพูด นอกจาก Is that so? อีกนั่นเอง
เรื่องของเขาก็จบเท่านี้

วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

นิทานเซน เรื่อง เพชรที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม

อาจารย์แห่งนิกายเซ็นชื่อ กูโด เป็นอาจารย์ของพระจักรพรรดิแห่งประเทศญี่ปุ่นในสมัยนั้น ท่านอาจารย์องค์นี้ชอบเที่ยวไปไหนคนเดียวโดดๆ อย่างนักบวชเร่ร่อนแบบปริพาชก ไม่ค่อยได้อยู่กับวัดวาอาราม ครั้งหนึ่ง ท่านเดินทางไปยังตำบลอีโด เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของท่านที่จะมีแก่คนอื่น ท่านได้ผ่านตำบล ๆ หนึ่ง
เย็นวันนั้น ฝนก็ตกมา ท่านจึงเปียกปอนไปหมดและรองเท้าของท่านที่ใช้ เป็นรองเท้าทำด้วยฟาง เพราะ นักบวชนิกายเซ็นใช้รองเท้าฟางถักทั้งนั้น เมื่อฝนตกตลอดวันรองเท้าก็ขาดยุ่ยไปหมด ท่านจึงเหลียวดูว่าจะมีอะไรที่ไหน จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง ก็พบกระท่อมน้อยๆ แห่งหนึ่งในถิ่นใกล้ๆ นั้น เห็นรองเท้าฟางมีแขวนอยู่ด้วย ก็คิดจะไปซื้อสักคู่หนึ่ง เอาแห้งๆ มาใส่ เพื่อเดินทางต่อไป หญิงเจ้าของบ้านนั้น เขาถวายเลยไม่ต้องซื้อ และเมื่อเห็นว่า เปียกปอนมาก ก็เลยขอนิมนต์ให้หยุดอยู่ก่อน เพราะฝนตกจนค่ำ ท่านก็เลยต้องพักอยู่ที่บ้านนั้น ด้วยคำของร้องของหญิงเจ้าของบ้าน
หญิงเจ้าของบ้าน เรียกเด็กๆ และญาติๆ มาสนทนาด้วยท่านอาจารย์; ท่านได้สังเกตเห็นว่า สกุลนี้เป็นอยู่ด้วยความข้นแค้นที่สุด ก็เลยขอร้องให้บอกเล่าตรงๆ โดยไม่ต้องเกรงใจว่าเรื่องมันเป็นอย่างไรกัน หญิงเจ้าของบ้านก็บอกว่า
"สามีของดิฉัน เป็นนักการพนัน แล้วก็ดื่มจัด ถ้าเผอิญเขาชนะ เขาก็ดื่มมันจนไม่มีอะไรเหลือ ถ้าเขาแพ้ เขาก็ยืมเงินคนอื่น เล่นอีก เพิ่มหนี้สินให้มากขึ้น เขาไม่เคยมาบ้านเลย เป็นวันเป็นคืน หรือหลายวัน หลายคืน ก็ยังมี ดิฉันไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี"
ท่านอาจารย์กูโดว่า ไม่ต้องทำหรอก ฉันจะช่วยทำ แล้วก็ว่า
“นี่ ฉันมีเงินมาบ้าง ช่วยให้ซื้อเหล้าองุ่น มาให้เหยือกใหญ่ๆ เหยือกหนึ่ง แล้วก็อะไรๆ ที่ดีๆ ที่น่ากิน เอามาให้เป็นจำนวนเพียงพอ เอามาวางที่นี่ แล้วก็กลับไปทำงานตามเรื่องเถอะ ฉันจะนั่งอยู่ที่นี่ ตรงหน้าที่บูชา”
ข้อนี้ หมายความว่า บ้านนั้นก็มีหิ้งบูชาพระ เมื่อผู้ชายคนนั้น กลับมาบ้านเวลาดึก เขาก็เมา เขาก็พูด ตามประสาคนเมา นี่คำนี้ จะแปลว่ายังไง Hey! wife; ก็ต้องแปลว่า เมียโว้ย! มาบ้านแล้วโว้ย; มีอะไรกินบ้างโว้ย ตัวหนังสือเขาเป็นอย่างนี้ ซึ่งมันก็เหมือนๆ กับในเมืองไทยเรา นี้เอง นี่ลองคิดดูว่า คนๆ นี้ จะเป็นอย่างไร
ฉะนั้น กูโด ท่านอาจารย์ที่นั่งที่หน้าหิ้งพระก็ออกรับหน้าบอกว่า
“ฉันได้มีทุกอย่าง สำหรับท่าน เผอิญฉันมาติดฝนอยู่ที่นี่ ภรรยาของท่านเขาขอร้องให้ฉันพัก ค้างฝน ที่นี่ตลอดคืนนี้ ฉันก็ควรจะมีส่วนตอบแทนท่านบ้าง ฉะนั้น ขอให้ท่านบริโภคสิ่งเหล่านี้ตามชอบใจ
ชายคนนั้นดีใจใหญ่ มีทั้งเหล้าองุ่น มีทั้งปลา มีทั้งอาหารต่างๆ เขาก็ดื่มและรับประทาน จนนอนหลับไปไม่รู้สึกตัวอยู่ตรงข้างๆ เข่าของท่านอาจารย์ กูโด ที่นั่งสมาธิ ตลอดคืนนั้น เหมือนกัน
ทีนี้ พอตื่นขึ้นมาตอนเข้า ชายคนนั้นก็ลืมหมด ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะเมื่อคืนนี้เขาเมาเต็มที่ และถามว่า ท่านเป็นใคร และจะไปข้างไหน ท่านอาจารย์ ก็ตอบว่า
อ๋อ! อาตมาคือ กูโด แห่งนครเกียวโต กำลังจะไปธุระที่ตำบลอิโด ตามเรื่องที่ว่ามาแล้ว เมื่อกี้นี้
ถ้อยคำอย่างนี้ มันประหลาดที่ว่า บางครั้งก็มีอิทธิพลมากมาย คือว่า ชายคนนั้น ละอายจนเหลือที่จะรู้ว่า จะอยู่ที่ไหน จะแทรกแผ่นดินหนีไปที่ไหนก็ทำไม่ไหว แทรกไปไม่ได้ มันละอายถึงขนาดอย่างนั้นแล้ว ก็ขอโทษขอโพย ขอแล้วขออีก จนไม่รู้จะขออย่างไร ต่ออาจารย์ของพระจักรพรรดิ ซึ่งจับพลัดจับผลูเข้ามาอยู่ที่บ้านเขา
ท่านกูโด ก็ยิ้มละไมอยู่เรื่อย แล้วก็พูดขึ้นช้าๆ บอกว่า
"ทุกอย่างในชีวิตนี้ มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย เป็นกระแสไหลเชี่ยวไปทีเดียว และทั้งชีวิตนี้ มันก็สั้นเหลือเกินด้วย ถ้ายังเล่นการพนันและดื่มอยู่ดังนี้ ก็หมดเวลาที่จะทำอะไรอื่นให้เกิดขึ้น หรือสำเร็จได้ นอกจากทำตัวเองให้เป็นทุกข์แล้ว ก็จะทำให้ครอบครัวพลอยตกนรกทั้งเป็นกันไปด้วย"
ความรู้สึกอันนี้ได้ประทับใจนายคนนั้น มีอาการเหมือนกับว่า ตื่นขึ้นมาในโลกอื่น เหมือนกับตื่นขึ้นมาจากความฝัน ในที่สุด ก็พูดกับท่านอาจารย์ว่า
“ที่ท่านอาจารย์กล่าวนั้น มันถูกหมดเลย มันถูกอย่างยิ่ง ถ้าอย่างไร ก็ขอให้กระผมได้สนองพระคุณอาจารย์ในคำสั่งสอนที่ประเสริฐนี้ เพราะฉะนั้น ขอให้กระผมออกติดตามท่านอาจารย์ ไปส่งท่านอาจารย์ ในการเดินทางนี้สักระยะหนึ่ง”
ท่านอาจารย์กูโด ก็บอกว่า “ตามใจ”
สองคนก็ออกเดินทาง ไปได้ประมาณ ๓ ไมล์ ท่านอาจารย์ก็บอกว่า “กลับเถอะ”
นายคนนี้ก็บอก “ขออีกสัก ๕ ไมล์”
อาจารย์ขยั้นคะยอให้กลับอีกว่าถึงคราวที่ต้องกลับแล้ว นายคนนั้น ก็บอกว่า ขออีกสัก ๑๐ ไมล์เถอะ ในที่สุดก็ต้องยอม พอถึง ๑๐ ไมล์ ท่านอาจารย์ ขยั้นคะยอให้กลับ เขาก็ว่า ขอตลอดชีวิตของผมเถอะ

นิทานเซน เรื่อง ชาล้นถ้วย










อาจารย์ แห่งนิกายเซ็น ชื่อ น่ำอิน เป็นผู้มีชื่อเสียงทั่วประเทศ และ โปรเฟสเซอร์คนหนึ่ง เป็นโปรเฟสเซอร์ที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศ ไปหา อาจารย์น่ำอิน เพื่อขอศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างเซ็น
ในการต้อนรับ ท่านอาจารย์ น่ำอิน ได้รินน้ำชา ลงในถ้วย รินจนล้นแล้วล้นอีก โปรเฟสเซอร์ มองดูด้วยความฉงน ทนดูไม่ได้ ก็พูดโพล่งออกไปว่า "ท่านจะใส่มัน ลงไปได้อย่างไร" ประโยคนี้ มันก็แสดงว่า โมโห
ท่านอาจารย์ น่ำอิน จึงตอบว่า "ถึงท่านก็เหมือนกัน อาตมาจะใส่อะไร ลงไปได้อย่างไร เพราะท่านเต็มอยู่ด้วย opinions และ speculations ของท่านเอง" คือว่า เต็มไปด้วยความคิด ความเห็น ตามความยึดมั่นถือมั่น ของท่านเอง และมีวิธีคิดนึก คำนวณ ตามแบบของท่านเอง สองอย่างนี้แหละ มันทำให้เข้าใจพุทธศาสนาอย่างเซ็นไม่ได้ เรียกว่า ถ้วยชามันล้น